วิเคราะห์ชิ้นงานเพื่อพัฒนางานของเรา

วิเคราะห์ชิ้นงานเพื่อพัฒนางานของเรา



เรื่องราวต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้เริ่มต้น หรือผู้ที่ผ่านช่วงเริ่มต้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว  มีความรู้สึกว่ายังคิดอะไรไม่ค่อยออก ได้มีแนวทางเพิ่มเติมในการขายภาพออนไลน์ได้มากขึ้น ค่อย ๆ อ่านบทความนี้ด้วยความตั้งใจจะช่วยให้สามารถตีโจษย์แตก และพัฒนางานได้มากขึ้น

เมื่อเราได้ดูโฆษณาจากที่วี, ขับรถผ่านป้ายโฆษณาตามข้างทาง, บรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่าง ๆ และที่พบเห็นได้มากที่สุดก็คือโฆษณาในเว็บไซต์ต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นงานกราฟฟิกส์ที่มีการออกแบบมาอย่างดี ทั้งเรื่องของโทนสี การเลือกใช้แบคกราวด์ และการเลือกรูปภาพมาประกอบในชิ้นงาน

เราจะเริ่มพิจารณาจากโทนสีกันก่อน ซึ่งนักออกแบบงานกราฟฟิกส์ จะไม่ใช้สีตามชอบใจของตนเอง หรือใช้สีสะเปะสะปะ แต่จะมีชุดสีที่กลั่นกรองมาแล้ว มาออกแบบชิ้นงาน จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องศึกษาในเรื่องชองชุดสี หรือแพนโทน (Pantone) เพราะฉะนั้นเมื่อเราถ่ายภาพที่มีการใช้พร็อพในรูปภาพ ควรเลือกพร็อพในหลายลักษณะ และหลายสี เช่น เมื่อเราถ่ายภาพอาหาร เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ภาชนะ จาน ชาม ช้อน แก้ว สีอะไร เช่น จานสีขาว แก้วกาแฟสีขาว ช้อนสแตนเลส จัดให้เข้าชุด แล้วถ่ายภาพ ถ้ามีจานหลายชุด หลายสี หลายแบบ อาหารเพียง 1 เมนูก็สามารถถ่ายภาพที่มีคุณภาพได้หลายใบ

ต่อมาเราจะมาดูกันที่แบคกราวด์กันบ้าง โดยเราจะไม่พูดถึงแบคกราวด์ที่เป็นสีพื้น หรือมีลวดลายพื้น ๆ เพราะแบคกราวด์เหล่านั้นไม่มีความจำเป็นต้องเลือกอะไรนอกจากสีได้ และลวดลายได้ก็เพียงพอแล้ว แบคกราวด์ที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือการนำภาพถ่ายไปทำแบคกราวด์ เพราะงานบางงานนั้น นำภาพที่ถ่ายแบบมีแบคกราวด์ในภาพนั้นมาวางบนชิ้นงานที่ออกแบบไว้ได้เลย

ขอยกตัวอย่างงานที่เป็นภาพโต๊ะอาหารที่ไม่ได้ถ่ายเฉพาะอาหาร แต่ถ่ายจานที่วางอยู่บนโต๊ะ และถ่ายกว้าง ๆ บนพื้นโต๊ะด้วย ภาพลักษณะนี้มักจะมีการเว้นพื้นที่สำหรับวางตัวอักษรด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราถ่ายภาพลักษณะนี้ก็ควรที่จะเว้นพื้นที่ว่างด้านซ้าย ด้านขวา ด้านบน หรือด้านล่างเอาไว้ด้วย

คำว่าเว้นหมายถึงไม่มีวัตถุอยู่ในส่วนนั้น เป็นพื้นที่โล่ง ๆ หรืออาจจะมีวัตถุอยู่แต่ต้องเป็นส่วนที่หลุดโฟกัส หรือเป็นส่วนที่เบลอ การเว้นพื้นที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายกว่าภาพที่โคลสอัพอยู่พอสมควร เพราะสามารถขยับภาพเพื่อเลือกมุมที่ดีที่สุดได้ (ข้อควรระวัง การเว้นพื้นที่ว่างนั้นควรดูความเหมาะสม ทั้งนี้อย่าลืมเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพให้น่าสนใจด้วย ไม่ใช่เว้นจนภาพนั้นขาดความน่าสนใจ)

เรื่องสุดท้ายคือการเลือกรูปภาพมาประกอบในชิ้นงาน งานบางงานนั้นนอกจากจะใช้รูปภาพเป็นแบคกราวด์แล้ว อาจจำเป็นต้องใช้รูปภาพอื่น ๆ เข้ามาประกอบอีก เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลูกค้าต้องการภาพในลักษณะใด วัตถุ หรือตัวแบบหันไปทางซ้าย หรือหันไปทางขวา เพราะฉะนั้นวัตถุ 1 ชิ้นถ่ายด้านที่น่าสนใจหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่เพราะต้องการเพิ่มจำนวนภาพเข้า Port แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการดาวน์ให้กับตนเอง

ส่งท้ายบทความ : เราอาจคาดเดาได้ว่าในช่วงเทศกาลลูกค้าต้องการภาพแบบไหน แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่ารูปแบบงานของลูกค้าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เราต้องถ่ายภาพด้วยโทนสีหลาย ๆ โทน ใช้พร็อพหลาย ๆ แบบ ถ่ายภาพหลาย ๆ มุม เพื่อให้ได้ภาพที่หลากหลาย และได้ยอดโหลดที่ตั้งใจ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ  ลากันไปก่อนเพียงเท่านี้นะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเข้าสู่ระบบ Shutterstock ในส่วนของคนขายภาพ

การเลือกภาษาบน Shutterstock Contributor ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น

3 เว็บไซต์ที่ผู้เริ่มต้นควรส่งภาพไปขาย